เมนู

ที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ดูก่อนอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์
ข้อที่ 6 ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร.
ดูก่อนอานนท์ อานิสงส์ในการฟังธรรม ในการใคร่ครวญเนื้อความ
โดยกาลอันควร 6 ประการนี้แล.
จบผัคคุณสูตรที่ 2

อรรถกถาผัคคุณสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในผัคคุณสูตรที่ 2 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สมฺญฺโจปิ ได้แก่ แสดงอาการลุกขึ้น. บทว่า ปฏิกฺกมนฺติ
ได้แก่ ทุเลาลง. บทว่า โน อภิกฺฏกมนฺติ ได้แก่ ไม่กำเริบ. บทว่า
สีสเวฐนํ ทุเทยฺย ได้แก่ พันศีรษะแล้วเอาไม้ขนเวียนรอบ (ศีรษะ).
บทว่า อินฺทฺริยานิ วิปฺปสีทึสุ ความว่า ในเวลาใกล้ตายนั้น อินทรีย์ 6
ผ่องใส. บทว่า อตฺถุปปริกฺขาย ได้แก่ ด้วยการใคร่ครวญถึงประโยชน์
และมิใช่ประโยชน์ คือ เหตุและมิใช่เหตุ. บทว่า อนุตฺตเร อุปธิสํขเย
ได้แก่ ในนิพพาน. บทว่า อธิมุตฺตํ โหติ ได้แก่ น้อมไปด้วยอรหัตผล.
จบอรรถกถาผัคคุณสูตรที่ 2

3. ฉฬาภิชาติยสูตร


ว่าด้วยบัญญัติชาติ 6 ประการ


[328] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ

ใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่
ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปูรณกัสสป บัญญัติชาติ 6 ประการ คือ บัญญัติ
ชาติดำ 1 ชาติเขียว 1 ชาติแดง 1 ชาติเหลือง 1 ชาติขาว 1 ชาติขาวจัด 1
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปูรณกัสสปบัญญัติคนฆ่าแพะ คนฆ่าสุกร คนฆ่านก
พรานเนื้อ ชาวประมง โจร เพชฌฆาต เจ้าหน้าที่เรือนจำ ก็หรือคนที่
ทำงานหยาบช้าอื่นใด ว่าเป็นชาติดำ บัญญัติพวกภิกษุ พวกผู้เชื่อไปในฝ่ายดำ
หรือพวกกรรมวาท กิริยาวาทอื่นใด ว่าเป็นชาติเขียว บัญญัติพวกนิครนถ์
ใช้ผ้าผืนเดียวว่าเป็นชาติแดง บัญญัติคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว สาวกของอเจลก
(นักบวชเปลือยกาย) ว่าเป็นชาติเหลือง บัญญัติอาชีวก อาชีวีกา ว่าเป็น
ชาติขาว บัญญัติเจ้าลัทธิชื่อนันทวัจฉโคตร ชื่อกัจจสังกิจจโคตร มักขลิโคสาล
ว่าเป็นชาติขาวจัด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปูรณกัสสปบัญญัติชาติ 6 เหล่านี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนอานนท์ การที่ปูรณกัสสปบัญญัติชาติ
6 นี้นั้น โลกทั้งปวงเห็นด้วยหรือ.
อา. หามิได้ พระเจ้าข้า.
พ. ดูก่อนอานนท์ เปรียบเหมือนคนทั้งหลายบังคับให้บุรุษผู้ยากจน
ขัดสน เข็ญใจ ผู้ไม่ปรารถนา ให้รับส่วนเนื้อว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่าน
พึงกินเนื้อนี้ และต้องใช้ราคาเนื้อ ฉันใด ปูรณกัสสปก็ฉันนั้นเหมือนกัน
บัญญัติชาติ 6 แห่งสมณพราหมณ์เหล่านั้น โดยที่โลกไม่รับรอง เหมือนดัง
คนพาลไม่เฉียบแหลม ไม่รู้เขตบัญญัติ ไม่ฉลาด ดูก่อนอานนท์ ก็เราแลจะ
บัญญัติชาติ 6 ประการ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระอานนท์
ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์
ก็ชาติ 6 เป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีชาติดำ ประพฤติ

ธรรมดำ 1 บางคนมีชาติดำ ประพฤติธรรมขาว 1 บางคนมีชาติดำ บรรลุ
นิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว 1 บางคนมีชาติขาว ประพฤติธรรมดำ 1 บางคนมี
ชาติขาว ประพฤติธรรมขาว 1 บางคนมีชาติขาวบรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว 1.
ดูก่อนอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติดำ ประพฤติธรรมดำเป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดในสกุลต่ำ คือ สกุลจัณฑาล สกุลพรานป่า
สกุลช่างจักสาน สกุลทำรถ สกุลเทหยากเยื่อ ซึ่งยากจน มีข้าวน้ำโภชนะน้อย
เป็นอยู่ฝืดเคือง ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มโดยยาก และเขาผู้นั้นเป็นผู้มี
ผิวพรรณทราม ไม่น่าดู เป็นคนแคระ ขี้โรค ตาบอด ง่อย กระจอก
เป็นอัมพาต ไม่ได้ข้าวน้ำเครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ เครื่องประทีป เขายังประพฤติทุจริตด้วยกาย
ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้ว
เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูก่อนอานนท์ บุคคลมี
ชาติดำ ประพฤติธรรมดำอย่างนี้แล.

ดูก่อนอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติดำ ประพฤติธรรมขาวเป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดในสกุลต่ำ คือ สกุลจัณฑาล สกุล
พรานป่า สกุลช่างจักสาน สกุลทำรถ สกุลเทหยากเยื่อ ซึ่งยากจน มีข้าวน้ำ
โภชนะน้อย เป็นผู้ฝืดเคือง ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มโดยยาก และเขาผู้นั้น
เป็นผู้มีผิวพรรณทราม ไม่น่าดู เป็นคนแคระ ขี้โรค ตาบอด ง่อย กระจอก
เป็นอัมพาต ไม่ได้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ เครื่องประทีป แต่เขาประพฤติสุจริตด้วยกาย
ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้ว เมื่อ
ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดูก่อนอานนท์ บุคคลมีชาติดำ ประ-
พฤติธรรมขาว อย่างนี้แล.

ดูก่อนอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติดำ บรรลุนิพพานที่ไม่ดำไม่ขาว
เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดในสกุลต่ำ ฯลฯ มีผิวพรรณ
ทราม ไม่น่าดู เป็นคนแคระ เขาปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกบวช
เป็นบรรพชิต เขาบวชแล้วอย่างนี้ ละนิวรณ์ 5 ประการ อันเป็นเครื่อง
เศร้าหมองใจซึ่งทำปัญญาให้ทุรพล เป็นผู้มีจิตตั้งอยู่ด้วยดีในสติปัฏฐานทั้ง 4
เจริญโพชฌงค์ 7 ตามความเป็นจริง แล้วได้บรรลุนิพพานอันไม่คำไม่ขาว
ดูก่อนอานนท์ บุคคลมีชาติดำ บรรลุนิพพานอันไม่ดำไม่ขาวอย่างนี้แล.
ดูก่อนอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติขาว ประพฤติธรรมดำเป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเกิดในสกุลสูง คือ สกุลกษัตริย์มหาศาล
สกุลพราหมณ์มหาศาล สกุลคฤหบดี มหาศาล ซึ่งมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
มีทองและเงินมาก มีอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจมาก มีทรัพย์ คือ ข้าวเปลือกมาก
และเขาผู้นั้นเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่ง
ได้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้
ที่นอน ที่อยู่ เครื่องประทีป เขาประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึง
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูก่อนอานนท์ บุคคลมีชาติขาว ประพฤติธรรม
ดำ อย่างนี้แล.

ดูก่อนอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติขาว ประพฤติธรรมขาว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดในสกุลสูง ฯลฯ เขาประพฤติสุจริตด้วยกาย
ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้ว เมื่อ
ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดูก่อนอานนท์ บุคคลมีชาติขาว ประ-
พฤติธรรมขาว อย่างนี้แล.

ดูก่อนอานนท์ ก็บุคคลผู้มีชาติขาว บรรลุนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว
เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดในสกุลสูง ฯลฯ เขาปลงผม
และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เขาบวชแล้วอย่างนี้
ละนิวรณ์ 5 ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญาให้ทุรพล
เป็นผู้มีจิตตั้งอยู่ด้วยดีในสติปัฏฐานทั้ง 4 เจริญโพชฌงค์ 7 ตามความเป็นจริง
แล้วได้บรรลุนิพพานที่ไม่ดำ ไม่ขาว ดูก่อนอานนท์ บุคคลมีชาติขาว
บรรลุนิพพานอันไม่ดำ ไม่ขาว อย่างนี้แล.

ดูก่อนอานนท์ ชาติ 6 นี้แล.
จบฉฬาภิชาติยสูตรที่ 3

อรรถกถาฉฬาภิชาติยสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในฉฬาภิชาติยสูตรที่ 3 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ฉฬาภิชาติโย ได้แก่ ชาติทั้ง 6 ประการ ตตฺริทํ คือ
ตตฺรายํ บทว่า ลุทฺทา ได้แก่ ต่ำช้า. บทว่า ภิกฺขู กณฺหาธิมุตฺติกา
ความว่า ธรรมดาว่าสมณะเหล่านี้. บทว่า เอกสาฎกา ได้แก่ (นิครนถ์
ทั้งหลาย) ปิดข้างหน้าด้วยผ้าชิ้นเดียวเท่านั้น. บทว่า อกามกสฺส พิลํ
โอลเภยฺยุํ
ความว่า เมื่อหมู่เกวียนกำลังเคลื่อนขบวนไป เมื่อโค (ตัวหนึ่ง)
ตายลง ชาวนาทั้งหลายก็พึงชำแหละเนื้อโคกันเพื่อต้องการตั้งราคาแล้วเคี้ยวกิน
พลางจัดสรรปันส่วนให้แก่ชาวนาคนหนึ่ง ผู้ไม่ปรารถนาเนื้อโคเลย พร้อม
กล่าวว่า เธอต้องกินส่วนนี้ และต้องให้ราคาด้วย ดังนี้แล้ว มอบชิ้นเนื้อ
กล่าวคือส่วนนั้นให้ อธิบายว่า พึงวางไว้ในมือโดยพลการ. บทว่า อเขตฺ-
ตญฺญุนา
ได้แก่ ผู้ไม่รู้จักเขตด้วยการบัญญัติอภิชาติ.